กระโดน

ชื่อสมุนไพร       : กระโดน

ชื่อพื้นเมือง       : หูกวาง, ขุย, พุย, ปุยขาว, ผักฮาด, ผ้าฮาด, กระโดนโคก, กระโดนบกปุย, ต้นจิก, ปุยกระโดน

วงศ์                  :  LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Careya arborea Roxb.          

ชื่อสามัญ         :  Tummy-wood, Patana oak

ลักษณะของสมุนไพร ต้นกระโดน จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีลักษณะของเรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร เปลือกต้นหนาเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลดำ แตกล่อนเป็นแผ่น ต้นมีกิ่งก้านสาขามาก ส่วนเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้มถึงสีน้ำตาลแกมแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งแหลมยื่น โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเป็นหยักเล็กน้อยตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-35 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีลักษณะเกลี้ยง เนื้อใบหนาและค่อนข้างนิ่ม มีเส้นแขนงใบอยู่ประมาณข้างละ 8-15 เส้น เส้นใบย่อยเป็นแบบร่างแห เห็นได้ชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบอวบเกลี้ยงและมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ในหน้าแล้งใบแก่ท้องใบจะเป็นสีแดง และจะทิ้งใบเมื่อออกใบอ่อน ยอดอ่อนของใบเป็นสีน้ำตาลแดง ใบก่อนร่วงเป็นสีแดงดอกมีขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะตามปลายกิ่งที่ไม่มีใบ สั้นมาก ในแต่ละช่อมีดอกประมาณ 2-6 ดอก ลักษณะของดอกคล้ายเป็นดอกเดี่ยว มีกลีบดอก 5 กลีบผลมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่ อวบน้ำ มีเนื้อสีเขียว ค่อนข้างแข็ง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร  ผิวผลเรียบ เปลือกหนา ที่ปลายผลจะมีกลีบเลี้ยงที่ติดทนอยู่

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสำหรับสตรีที่อยู่ไฟ ต้นใช้ผสมกับเถายาน่องและดินประสิว นำมาเคี่ยวให้งวดและตากให้แห้ง ใช้สำหรับปิดแผลมีพิษและปิดหัวฝี ใบใช้รักษาแผลสด ด้วยการนำมานึ่งให้สุกแล้วใช้ปิดแผล  เปลือกต้น รสฝาดเมา แช่น้ำดื่มแก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้พิษงู แก้อักเสบจากงูกัด ใช้เป็นยาสมาน ใช้สมานแผล แก้เคล็ดเมื่อย

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  วัดพระพุทธบาทเขาน้อยเจริญธรรม ม.13 บ้านใหม่เขาน้อย ต.แก่งโสภา        อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล คุณสุบิน  ปัญทา     อายุ 65 ปี ที่อยู่ 454 ม.13 ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก