เพชรหึง

ชื่อสมุนไพร       : เพชรหึง

ชื่อพื้นเมือง       : กล้วยกา กะดำพะนาย ตับตาน ว่านหางช้าง ว่านงูเหลือม เอื้องพร้าว

วงศ์               :  (ORCHIDACEAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Grammatophyllum speciosum Blume.

ชื่อสามัญ         : –

ลักษณะของสมุนไพร ต้นว่านเพชรหึง จัดเป็นกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอ มีระบบรากอากาศ มักเกาะอาศัยอยู่บนพรรณไม้อื่น อาจมีลำต้นสูงได้ถึง 3 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร เมื่อเจริญเต็มที่จะเปลี่ยนจากสีเขียวแกมเหลืองเป็นสีเหลือง ว่านเพชรหึงเป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงแดดค่อนข้างมาก (แต่ไม่จัดมากนัก) ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อดอกว่านเพชรหึง ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่บริเวณยอดครั้งละ 2-3 ช่อ โดยดอกจะทยอยบานติดต่อกันประมาณ 3 เดือน โดยช่อดอกจะมีทั้งแบบเป็นช่อห้อยและช่อตั้ง ช่อดอกมักโค้งลงและอาจยาวได้ถึง 2 เมตร ส่วนก้านดอกจะยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก (75-125 ดอก) ดอกย่อยมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกย่อยจะมีขนาดใหญ่และหนา เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร โดยกลีบเลี้ยงและกลีบดอกพื้นมีสีเหลืองหม่นหรือเหลืองอมเขียวและมีจุดประสีน้ำตาลแกมม่วงกระจายอยู่ทั่วกลีบคล้ายกับลายเสือ กลีบปากจะเล็กกว่ากลีบอื่น ๆ และแผ่นกลีบจะแยกเป็นสามแฉก ส่วนกลางกลีบมีสันนูน 3 สัน หูกลีบเป็นปากตั้งโค้งขึ้น ดอกมีเกสรตัวผู้ 3 ก้าน มีเกสรตัวเมีย 1 ก้าน และมีรังไข่ 3 ห้อง และจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี แต่จะต้องมีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปถึงจะออกดอกให้ชมได้อย่างสวยงาม

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ กล้วยไม้เพชรหึง เป็นกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความสวยงามมาก ทั้งยังเป็นพันธุ์ไม้ที่หาดูได้ยาก ในหนึ่งปีจะออกดอกเพียง 3 เดือน จึงได้มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์สำหรับนำไปปลูกเพื่อตัดดอกขายในเชิงการค้า และใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้ลำต้นกับก้านใบนำมาหั่นบาง ๆ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาใส่โหลดองกับเหล้าไว้ดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ใช้สูตรเดียวกับยาอายุวัฒนะ) ช่วยแก้อาการไอและอาการเจ็บคอ ช่วยขับลมในลำไส้ (ใช้สูตรเดียวกับยาอายุวัฒนะ) ลำต้นเพชรหึงใช้ตำผสมเหล้าเอาน้ำมากินหรือนำมาฝนกับเหล้าดื่ม ส่วนกากที่เหลือเอามาใช้พอกปากแผล มีฤทธิ์เป็นยาเย็นช่วยถอนพิษ แก้อาการอักเสบเนื่องจากถูกงูกัด ช่วยแก้พิษงูกัด พิษตะขาบ และพิษแมงป่องต่อย แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า “ถ้าเป็นงูมีพิษไม่ควรใช้” ช่วยรักษาอาการผื่นคันมีน้ำเหลือง ลำต้นใช้ฝนกับน้ำซาวข้าวใช้ทาพอกรักษาฝี ช่วยรักษาฝีประคำร้อย

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 19 หมู่บ้านวังกระบาก ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นางสุจิตรา อ่อนเปลีย         อายุ 58 ปี ที่อยู่ บ้านเลขที่ 399 หมู่ที่ 19 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก