กันเกรา

ชื่อสมุนไพร       : กันเกรา

ชื่อพื้นเมือง       : มันปลา, ตำแสง, ตำเสา, ทำเสา เป็นต้น

วงศ์               :  GENTIANACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Fagraea fragrans Roxb.

ชื่อสามัญ         :  Anan, Tembusu

ลักษณะของสมุนไพร กันเกรา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีทรงต้นไม่ตรงนัก ลำต้นสูงประมาณ 20-30 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ แตกกิ่งในระดับต่ำ เรือนยอดแหลม ปลายกิ่งห้อยลู่ลง เปลือกต้นหยาบหนา เปลือกมีสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลปนเทา เปลือกแตกร่องลึกไม่เป็นระเบียบ เปลือกชั้นในมีสีเหลือง เป็นเสี้ยน เมื่อสัมผัสกับอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน เป็นคู่ ๆ แตกใบมากเป็นพุ่มที่ปลายกิ่ง ก้านใบยาว 1-2 เซนติเมตร โคนก้านใบมีหูใบคล้ายถ้วยขนาดเล็ก ใบมีลักษณะบาง แต่เหนียว ผิวใบเรียบเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างใบมีสีจางกว่าใบด้านบน ตัวใบรูปรี ยาว 5-10 เซนติเมตร กว้าง 2.5-4.5 เซนติเมตร ปลายใบมีติ่งเรียวแหลม และโคนใบแหลม มีเส้นแขนงใบเห็นไม่ค่อยชัด ดอกกันเกราออกเป็นช่อ ตามง่ามใบ ออกมากบริเวณปลายกิ่ง ดอกอ่อนมีสีขาวนวล เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ประกอบด้วยดอกย่อยที่มีมีกลีบรองดอกขนาดเล็ก 5 กลีบ กลีบดอกมีโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังหรือแตร กว้าง และยาวประมาณ 2 ซม. ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ปลายดอกผายแยกเป็นกลีบ ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายกลีบโค้งไปทางโคนดอก ด้านในมีเกสรตัวผู้ 5 อัน ยาวพ้นจากปากหลอด 1.5-2 เซนติเมตร ถัดมาเป็นรังไข่ รูปร่างคล้ายหัวเข็มหมุด ดอกบานเริ่มแรกมีสีขาว แล้วจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม ผลมีลักษณะกลม กว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร มีติ่งแหลมสั้นๆที่ปลายผล ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีส้ม และผลสุกมีสีแดงเข้ม เมล็ดมีขนาดเล็กจำนวนมาก มีรูปทรงไม่แน่นอน

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ แก่นและใบเมื่อนำมาผสมกันจะใช้แก้โรคเส้นติดขัดได้ แก่นนำมาฝนชงน้ำดื่ม ช่วยบำรุงไขมันในร่างกาย บำรุงธาตุ ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ แก้เลือดพิการ แก้ไข้จับสั่น แก้อาการหืดไอ แก้อาการท้องมานลงท้อง ขับลมในกระเพาะ แก้มูกเลือด ช่วยบำรุงม้าม

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน หมู่ 2 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง        จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นายพจน์   ชินปัญชนะ   อายุ 48 ปี

ตำแหน่ง หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน ที่อยู่ สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก