ตะคร้ำ

ชื่อสมุนไพร       : ตะคร้ำ

ชื่อพื้นเมือง       : อ้อยน้ำ, กะตีบ, แขกเต้า, ค้ำ, หวีด, คร้ำ, ตำคร้ำ, เก๊าค้ำ, ไม้หวิด, ไม้ค้ำ เป็นต้น

วงศ์               :  BURSERACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Garuga pinnata Roxb.

ชื่อสามัญ         :  –

ลักษณะของสมุนไพร  ตะคร้ำเป็นไม้ยืนต้นขนาดลาง สูง 10-20 เมตร โตวัดรอบ 100-200 ซม. ผลัดใบ ลำต้นเปลา ตรง โคนต้นเป็นพูพอน เรือนยอดมีกิ่งก้านสาขา ตามกิ่งอ่อนและก้านช่อดอกมีขนสีเทา ๆ กระจายทั่วไป จะมีรอยแผลใบปรากฏอยู่ตามกิ่ง เปลือกสีน้ำตาลปนเทาแตกเป็นสะเก็ดหรือเป็นหลุมตื้น ๆ ทั่วไป เปลือกในสีนวล มีทางสีชมพูสลับ และมียางสีชมพูปนแดงไหลออกเมื่อสับดู ยางนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำเมื่อทิ้งไว้นาน กระพี้สีชมพูอ่อน ๆ แก่นสีน้ำตาลแดง ใบออกเรียงเวียนสลับกันเป็นกลุ่มตอนปลาย ๆ กิ่ง ช่อหนึ่ง ๆ มีใบย่อย 7-13 ใบ เรียงตรงข้ามกัน หรือทแยงกันเล็กน้อย ใบย่อยรูปมนแกมรูปขอบขนาน ขนาด 2-4 x 3-10 ซม. โคนใบเบี้ยว ปลายใบสอบหรือหยักเป็นติ่งแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยถี่ ๆ ใบอ่อนมีขนนุ่ม ใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ใบแก่จะร่วงก่อนผลิดอก และจะเริ่มผลิใบใหม่เมื่อดอกเริ่มบาน ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เป็นดอกสมบูรณ์ ออกเป็นช่อใหญ่ ตามง่ามใบและปลายกิ่ง โคนกลีบรอบกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยก 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ เกสรตัวผู้มี 10 อัน รังไข่มี 5 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 2 ปลายหลอดท่อรังไข่มี 5 แฉก ก่อนออกดอกจะผลัดใบหมด ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม และเป็นผลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ผลลักษณะกลมรี ขนาดเล็ก ๆ อุ้มน้ำ

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ ผลตะคร้ำรับประทานสดมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุหรือบำรุงกระเพาะอาหาร ต้นสดนำมาคั้นเอาน้ำใช้หยอดตา แก้ตามัวเนื่องจากเยื่อตาอักเสบ เปลือกต้นใช้ฝนใส่น้ำร่วมกับเปลือกต้นมะกอกและตะคร้อ ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง เปลือกต้นใช้ต้มอาบสำหรับสตรีหลังคลอด เปลือกต้นนำมาแช่กับน้ำใช้ล้างแผลเรื้อรังได้ดีมากหรือให้เด็กทารกอาบ ป้องกันไม่ให้ผิวหนังมีผื่นหรือตุ่มขึ้น

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  วัดพระพุทธบาทเขาน้อยเจริญธรรม ม.13 บ้านใหม่เขาน้อย ต.แก่งโสภา        อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล คุณสุบิน  ปัญทา     อายุ 65 ปี

ที่อยู่ 454 ม.13 ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก