ผักกระสัง

ชื่อสมุนไพร       : ผักกระสัง

ชื่อพื้นเมือง       : ผักราชวงศ์ (แม่ฮ่องสอน), ผักกูด (เพชรบุรี), ผักสังเขา (สุราษฎร์ธานี), ผักฮากกล้วย (ภาคเหนือ), ผักกระสัง (ภาคกลาง), ชากรูด (ภาคใต้), ตาฉี่โพ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) 

วงศ์               : วงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Peperomia pellucida (L.) Kunth

ชื่อสามัญ         : Peperomia, Shiny leave

ลักษณะของสมุนไพร  จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเปราะหักง่าย มีความสูงได้ประมาณ 15-30 เซนติเมตร ลำต้นและใบเป็นสีเขียวและอวบน้ำ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยจะออกจากลำต้นในลักษณะตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าตื้น ส่วนขอบใบเรียบ มีต่อมโปร่งแสง แผ่นใบหนาเป็นคลื่นเล็กน้อย] ผิวใบด้านบนเป็นมัน ด้านล่างขุ่นและมีสีอ่อนกว่า ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อตามซอกและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีครีม ช่อดอกจะออกบริเวณข้อตรงข้ามกับใบ เรียงโค้งขึ้น ประกอบไปด้วยดอกเล็ก ๆ ที่ไม่มีก้าน มีดอกย่อยจำนวนมากเวียนรอบแกน ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ไม่มีทั้งกลีบดอกและกลีบเลี้ยง มีใบประดับดอกละ 1 ใบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน อยู่ข้าง ๆ รังไข่ ผลเป็นผลสด มีลักษณะกลม ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำทรงกลมและมีขนาดเล็ก

รูปภาพ

                 

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ ใบใช้รับประทานสด ๆ จะมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟันใช้เป็นยารักษาเริม ด้วยการนำต้นผักกระสังมาผสมกับขมิ้นและข้าวสาร ตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกทิ้งไว้ 1 คืน ผักกระสังเป็นยาแก้ปวดข้อโดยกินผักกระสังสด ๆ หรือนำมาต้มกินเพื่อรักษาโรคเกาต์ อาการปวดข้อ และข้ออักเสบ โดยการนำผักกระสังต้นยาวสัก 20 เซนติเมตร นำมาต้มกับน้ำ 2 แก้ว ให้เหลือประมาณ 1 แก้ว ใช้แบ่งรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว เช้าและเย็น

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 9 ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นางธัญญาพร  สุขถิ่น          อายุ  43  ปี ที่อยู่  หมู่ที่ 9 ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก