ว่านสาวหลง

ชื่อสมุนไพร       : ว่านสาวหลง

ชื่อพื้นเมือง       : ว่านฤาษีผสม, ว่านฤาษีสร้าง เป็นต้น

วงศ์               :  ZINGIBERACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Amomum cf. biflorum Jack.

ลักษณะของสมุนไพร ว่านสาวหลง จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีเหง้าใต้ดิน แตกแขนงคล้ายไหลทอดไม่ยาว มีกลิ่นหอม ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมขอบขนาน ขนาดกว้างประมาณ 5-8 ซม. ยาวประมาณ 20-30 ซม. ปลายใบเรียวแหลม เกลียวบิดเล็กน้อย โคนใบสอบหรือมน สีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่องเล็กน้อย สีเขียวอ่อน ด้านล่างนูนสีเดียวกับสีแผ่นใบ ผิวใบเว้านูนเป็นคลื่นมีร่องแถบตื้นตามแนวระหว่างเส้นแขนงใบที่เรียงเป็นแนวเอียง ด้านบนเป็นแถบเว้าตรงกลาง แนวเส้นแขนงใบนูนยกสูงขึ้น หลังใบมีขนนุ่มสีเขียวอ่อน มีกาบใบหุ้มโคนต้น ก้านใบ ยาว 0.5-2 เซนติเมตร ด้านบนเป็นร่อง สีเขียวแกมเหลือง ด้านล่างนูนกลม สีเขียวแกมน้ำตาลแดงหรือสีเขียว โคนก้านเป็นกาบเรียงซ้อนกันแน่น มีขนยาวสีเขียวหรือเขียวแกมน้ำตาลแดง ดอกออกที่ไหลใกล้โคนต้น ดอกสีขาว กลีบประดับหุ้มช่อดอก กลีบเลี้ยง โคนเชื่อมเป็นหลอด กลีบดอก โคนเชื่อมเป็นหลอด สีขาวใส ปลายแยก 3 หยัก สีขาว เกสรเพศผู้ส่วนที่เป็นกลีบอยู่บนปลายกลีบดอก เป็นกลีบปาก สีขาวตรงกลางกลีบมีแถบสีเหลืองถึงปลายกลีบ ก้านเกสรและอับเกสรสีขาว

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ หัวหรือแง่งนำมาตากแห้ง และบดเป็นผงใช้ชงเป็นชาดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยลดไข้ ช่วยลดอาการไอ ลดอาการแสบคอ คออักเสบ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และช่วยชะลอความแก่ หัวนำมาต้มน้ำอาบ ช่วยแก้อาการผื่นคัน รักษาโรคผิวหนัง ดอกน้ำมาต้มดื่ม แก้อาการท้องเสีย ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการไข้หวัด ดอกสดนำมาสูดดม แก้อาการวิงเวียนศรีษะ

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน หมู่ 2 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นายพจน์   ชินปัญชนะ   อายุ 48 ปี

ตำแหน่ง หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน ที่อยู่ สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก