ชะมวง

ชื่อสมุนไพร       : ชะมวง

ชื่อพื้นเมือง       : ส้มป้อง, มะป่อง, หมากโมก, มวงส้ม, กะมวง, มวง, ส้มมวง เป็นต้น

วงศ์               :  CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Garcinia cowa Roxb. ex Choisy

ชื่อสามัญ         :  Cowa

ลักษณะของสมุนไพร ชะมวง จัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงกลาง สูง 15-30 เมตร ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำทรงสูง เปลือกสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นสะเก็ด มีน้ำยางสีเหลือง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปวงรีแกมใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาและแข็งเปราะ ก้านใบสีแดงยาว 0.5-1 เซนติเมตร  ผิวใบเป็นมัน ใบอ่อนสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมม่วงแดง ใบแก่สีเขียวเข้ม บริเวณปลายกิ่งมักแตกเป็น 1-3 ยอด เส้นใบไม่ชัด แต่ด้านหลังของใบเห็นเส้นกลาง ดอกแยกเพศ อยู่คนละต้น ดอกตัวผู้ออกตามกิ่งเป็นกระจุก ดอกย่อย 3-8 ดอก เกสรตัวผู้มีจำนวนมากเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม กลีบดอกสีเหลือง 4 กลีบ รูปรี แข็งหนา มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-2.5 เซนติเมตร ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว ดอกมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย มีปลายเกสรเป็น 4-8 เหลี่ยม เกสรเพศเมียออกปลายกิ่ง เกสรเพศผู้เทียมเรียงอยู่รอบๆรังไข่ ก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่มๆ ปลายก้านมีต่อม 1 ต่อม ผลสด รูปกลมแป้น ผิวเรียบ ขนาด 2.5-6 เซนติเมตร เมื่อสุกสีเหลืองแกมส้มหม่น มีร่องตื้นๆ 5-8 ร่อง ด้านบนปลายบุ๋ม และมีชั้นกลีบเลี้ยง 4-8 แฉกติดอยู่ เนื้อหนา สีเหลือง มีรสฝาด มีเมล็ดขนาดใหญ่ 4-6 เมล็ด รูปรี หนา เรียงตัวกันเป็นวงรอบผล พบทั่วไปในป่าชื้นระดับต่ำ มีความทนต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆในจีนัสเดียวกัน พบตามป่าที่ระดับความสูง 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ใบมีรสเปรี้ยว นำมาใส่แกง ปรุงอาหาร หรือกินเป็นผักสด ผลเมื่อสุกรับประทานได้ มีรสเปรี้ยว แต่มียางมากทำให้ติดฟัน

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ ยอดอ่อน และใบอ่อนชะมวง นำมารับประทานสด หรือต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ ต้านเชื้อจุลินทรีย์ทั้งในระบบทางเดินอาหาร และราก่อโรคผิวหนัง ต้านเชื้อ และรักษามาลาเลีย แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยให้ชุ่มคอ แก้โรคบิด แก้ไอ ช่วยเป็นยาระบาย ลดเสมหะ และช่วยขับเสมหะ แก้ท้องเสีย ฟอกเลือด และขับสารพิษ ต้าน และป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง เปลือก และแก่นลำต้น ใช้บดทาหรือต้มน้ำอาบ มีสรรพคุณ ใช้ประคบรักษาแผล แก้แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง น้ำต้มใช้อาบ ช่วยป้องกัน และรักษาโรคผิวหนัง เปลือก และแก่นลำต้น ใช้ต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณ ใช้เป็นยาระบาย รักษาโรคท้องร่วง ช่วยแก้กระหายน้ำ ช่วยขับเสมหะ ลดอาการไอ ดอกนำมาตากแห้งใช้ต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณ ใช้เป็นยาระบาย ช่วยบำรุงผิวพรรณ ป้องกันการเกิดฝ้า กระ

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 10 บ้านไผ่ใหญ่ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังนกแอ่น จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล  นายโกศล สมบัติคำ อายุ 58 ปี

ที่อยู่ บ้านเลขที่ 221/1 หมู่ที่ 10 บ้านไผ่ใหญ่ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังนกแอ่น จังหวัดพิษณุโลก