พลับพลึงดอกขาว

ชื่อสมุนไพร       : พลับพลึงขาว หรือ พลับพลึง

ชื่อพื้นเมือง       : พลับพลึง, พลับพลึงดอก (ภาคกลาง) ; ลินัว (ภาคเหนือ)

วงศ์               :  AMARYLLIDACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Crinum amable Don (พลับพลึงดอกแดง) ; Crinum asisticum L. (พลับพลึงดอกขาว)

ชื่อสามัญ         :  Crinum lily หรือ Cape lily, Spider lily, Poison bulb

ลักษณะของสมุนไพร ไม้ล้มลุก  ที่มีลำต้นใต้ดิน ลักษณะคล้ายหอมหัวใหญ่ มีโคนก้านใบหนาอวบหุ้มซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เนื้อในหัวสีขาว โคนลำต้นที่โผล่เหนือดินสีขาวปนเขียว มีเหยื่อหุ้มสีน้ำตาล เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่หน่อจะแตกรอบ ๆ ต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียว ใบจะห่อเล็กน้อย แตกใบหมุนเวียนรอบ ๆ ต้น ดูสง่างาม ดอก ออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว ตอนปลายมีดอกเป็นกระจุกอยู่บนก้านดอกสั้น ๆ เมื่อดอกยังอ่อนอยู่มีกาบสีเหลืองอ่อน ๆ หุ้มอยู่ 2 กาบ กลีบดอกสีขาว กลิ่นหอม กลีบดอกติดกันตอนโคนเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบแคบ ๆ ยาวเรียวแหลม 6 กลีบ เกสรตัวผู้ 6 อัน ติดอยู่ที่หลอดดอกตอนโคน ส่วนตอนปลายเรียวแหลมยาว ปลายเกสรสีแดง โคนขาวอับเรณูสีน้ำตาล ผล สีเขียวอ่อน ค่อนข้างกลม

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับเพื่อความสวยงามและให้กลิ่นหอม ประโยชน์ในด้านของพิธีกรรมความเชื่อ ก็มีการใช้ใบพลับพลึงนำมาซอยแล้วใส่ลงในขันน้ำมนต์ นำมาใช้ประพรมตัวเพื่อขับไล่ผีสางหรือสิ่งอัปมงคลในด้านของความเป็นศิริมงคล มีการปลูกต้นพลับพลึงไว้ในบ้านเพื่อแก้เคล็ด ช่วยขับไล่สิ่งที่ไม่เป็นมงคล ช่วยให้ชนะสิ่งไม่ดีทั้งปวงได้กาบใบสีเขียวของพลับพลึงมีคุณสมบัติคล้ายใบตอง สามารถนำมาใช้ทำเป็นงานฝีมือหรืองานประดิษฐ์ดอกไม้ได้ เช่น การทำกระทง งานแกะสลัก เป็นต้นดอกพลับพลึงสามารถนำไปวัดหรือใช้บูชาพระได้ (ลั้วะ) ดอกพลับพลึงมีกลิ่นหอม ช่อใหญ่และยาว นิยมนำมาใช้จัดแจกัน ทำกระเช้าดอกไม้ หรือมอบให้เป็นช่อเดี่ยว ๆ แทนดอกลิลี่ก็ได้

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 13 บ้านตอเรือ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นางปิ่น  มูลนาง      อายุ 70 ปี ที่อยู่ หมู่ที่ 13 บ้านตอเรือ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก