มะกอก

ชื่อสมุนไพร       : มะกอก

ชื่อพื้นเมือง       : กูก กอกกุก (เชียงราย), กอกเขา (นครศรีธรรมราช), ไพแซ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), กอกหมอง (เงี้ยว-เชียงใหม่), กราไพ้ย ไพ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะผร่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง)

วงศ์               : วงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Spondias pinnata (L. f.) Kurz

ชื่อสามัญ         :  –

ลักษณะของสมุนไพร ต้นมะกอก มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นตั้งตรงและมีลักษณะกลม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งก้านโปร่ง กิ่งมักห้อยลง เปลือกต้นเป็นสีเทา เปลือกหนาเรียบ มีปุ่มปมบ้างเล็กน้อย และมีรูอากาศตามลำต้น กิ่งอ่อนมีรอยแผลการหลุดร่วงของใบ ตามเปลือก ใบ และผลมีกลิ่นหอม มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าแดง และป่าดิบแล้งทุกภาคของประเทศไทย ใบมะกอก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 4-6 คู่ โดยจะออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน หรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนเบี้ยวหรือขอบไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างนุ่ม ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เนื้อใบหนาเป็นมัน หลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบเรียบ มีก้านใบร่วมยาวประมาณ 12-16 เซนติเมตร ผลมะกอก ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีเหลืองอมสีเขียวถึงสีเหลืองอ่อน ประไปด้วยจุดสีเหลืองและดำ มีรสเปรี้ยวจัด ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวขนาดใหญ่และแข็งมาก ผิวเมล็ดเป็นเสี้ยนและขรุขระ

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ ผลใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ ส่วนผลสุกจะนิยมนำมาใส่ส้มตำ น้ำพริก ยำ และใช้ประกอบอาหารอื่น ๆ ที่ต้องการรสเปรี้ยว โดยจะมีรสเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อย นอกจากนี้เนื้อในของผลสุกยังสามารถนำมาใช้ทำน้ำผลไม้หรือทำเป็นเครื่องดื่มได้อีกด้วย โดยนำมาปอกเปลือกออกฝานเอาแต่เนื้อไปเข้าเครื่องปั่น เติมน้ำเชื่อมให้มีรสหวานตามชอบใจ ก็จะได้น้ำมะกอกปั่นที่มีกลิ่นและรสชาติอร่อยไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ อีกด้วย ผลมะกอกมีสารต้านมะเร็งและสารต้านอนุมูลอิสระสูง โดยคุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนมะกอกต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 46 กิโลแคลอรี, ใยอาหาร 16.7 กรัม, เบตาแคโรทีน 2,017 ไมโครกรัม, วิตามินเอ 337 ไมโครกรัม, วิตามินซี 53 มิลลิกรัม, แคลเซียม 49 มิลลิกรัม ผลยังใช้เป็นอาหารของสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี นายพรานป่ามักจะเฝ้าต้นมะกอกเพื่อรอส่องสัตว์ป่าที่เข้ามากินผลมะกอกที่ร่วงอยู่บนพื้น

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 10 บ้านไผ่ใหญ่ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังนกแอ่น จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล  นายโกศล สมบัติคำ อายุ 58 ปี ที่อยู่ บ้านเลขที่ 221/1 หมู่ที่ 10 บ้านไผ่ใหญ่ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังนกแอ่น จังหวัดพิษณุโลก