หญ้างวงช้าง

ชื่อสมุนไพร:      หญ้างวงช้าง

ชื่อพื้นเมือง:       มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักแพวขาว (กาญจนบุรี), หวายงวงช้าง (ศรีราชา), หญ้างวงช้างน้อย (ภาคเหนือ), หญ้างวงช้าง (ไทย), กุนอกาโม (มลายู-ปัตตานี), ชื้อเจาะ(ม้ง), ไต่บ๋วยเอี้ยว เฉี่ยผี่เช่า (จีนแต้จิ๋ว), เงียวบ๋วยเช่า ต้าเหว่ยเอี๋ยว เซี่ยงปี๊่เฉ่า (จีนกลาง)

วงศ์:              หญ้างวงช้าง (BORAGINACEAE)   

ชื่อสามัญ:         Alacransillo, Eye bright, Indian Heliotrope, Indian Turnsole, Turnsole

ชื่อวิทยาศาสตร์:  Heliotropium indicum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Heliophytum indicum (L.) DC., Tiaridium indicum (L.) Lehm.)

ลักษณะของสมุนไพร ต้นหญ้างวงช้าง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุเพียงฤดูกาลเดียว เกิดในช่วงฤดูฝน ถึงหน้าแล้งก็ตาย มีความสูงของต้นประมาณ 15-60 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก มีขนหยาบปกคลุมตลอดทั้งต้น ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มักได้ทั่วไปในที่ที่มีความชื้น เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท มักพบได้ตามพื้นที่ชื้นแฉะ เช่น ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง ทางน้ำ ท้องนา แหล่งน้ำต่าง ๆ หรือตามที่รกร้างตามวัดวาอารามทั่วไป และมีบ้างที่ปลูกไว้เก็บมาขายเป็นยาสดตามสวนยาจีนต่าง ๆ ใบหญ้างวงช้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือออกเกือบตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปกลมรี หรือป้อม ปลายใบแหลมสั้น กลางใบกว้างออก โคนใบมนรีหรือเรียวต่อลงมาถึงก้านใบ ส่วนขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบหยาบ มีรอยย่น และขรุขระ หลังใบและท้องใบมีขนเล็กน้อย มีก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ดอกหญ้างวงช้าง ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่บริเวณปลายยอด ปลายช่อมักม้วนลงดูเหมือนงวงช้างหรือหางแมงป่อง ช่อดอกยาวประมาณ 3-20 เซนติเมตร ดอกจะออกดอกทางด้านบนด้านเดียวและเรียงกันเป็นแถว ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีฟ้าอ่อนหรือสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแยกออกจากกัน ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน มีขนสีขาว ภายในหลอดดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน ติดอยู่กับฐานดอก รังไข่เป็นรูปจานแบน ๆผลหญ้างวงช้าง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลเป็นคู่ มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผลเกิดจากการที่รังไข่ 2 อันรวมตัวติดกัน เปลือกผลแข็ง ข้างในแบ่งออกเป็นช่อง 2 ช่อง มีเมล็ดอยู่ตามช่อง ช่องละ 1 เมล็ด

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ หญ้างวงช้าง น้ำจากใบหญ้างวงช้างมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (น้ำจากใบ) ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้โรคชักในเด็ก ช่วยแก้เด็กตกใจในเวลากลางคืนบ่อย ๆ (ทั้งต้น) ใบสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดหู (ใบ) น้ำจากใบใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาฟาง ส่วนทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ตาฟางเช่นกัน (น้ำจากใบ,ทั้งต้น) รากสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตาแก้ตาอักเสบ ตาเจ็บ ตาฟาง ตามัว (ราก) ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้โรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกินเป็นยา ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ดับร้อนใน ช่วยแก้หอบหืด ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกิน (ทั้งต้น) น้ำจากใบใช้ทำเป็นยาอมกลั้วคอจะช่วยแก้อาการเจ็บคอได้ (น้ำจากใบ) ช่วยแก้ปอดอักเสบ แก้ฝีในปอด มีฝีมีหนองในช่องหุ้มปอด ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาต้มผสมกับน้ำผึ้งรับกิน หรือจะใช้ทั้งต้นสดประมาณ 60-120 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งกินก็ได้ แก้อาการปวดท้องอันเกิดจากอาหารเป็นพิษ ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับหญ้าปันยอด (ชั้วจ้างหม่อ) และต้นว่านน้ำ (แป๊ะอะ) (ต้น)

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 13 บ้านตอเรือ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นางปิ่น  มูลนาง      อายุ 70 ปี ที่อยู่ หมู่ที่ 13 บ้านตอเรือ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก