หนาด

ชื่อสมุนไพร       : หนาด

ชื่อพื้นเมือง       : มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนาด (จันทบุรี), คำพอง หนาดหลวง (ภาคเหนือ), ใบหลม ผักชีช้าง พิมเสน หนาดใหญ่ (ภาคกลาง)

วงศ์               :  ดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Blumea balsamifera (L.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baccharis salvia Lour., Blumea grandis DC.

ชื่อสามัญ         :  Ngai Camphor Tree[1], Camphor Tree

ลักษณะของสมุนไพร ต้นหนาดใหญ่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุกที่มีอายุได้หลายปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 0.5-4 เมตร ลำต้นตั้งตรง เนื้อไม้เป็นแก่นแข็ง เปลือกต้นเรียบเป็นสีเขียวอมขาว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมเทา แตกกิ่งก้านมาก มีขนปุกปุยสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุมและมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือผล เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่มักพบขึ้นตามที่รกร้าง ทุ่งนา หรือตามหุบเขาทั่วไป ใบหนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมีติ่งหนาม โคนใบสอบหรือเรียวแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่ใหญ่ ไม่เท่ากัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-17 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบมีขนทั้งสองด้าน ก้านใบสั้นหรือไม่มี

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ หนาดใหญ่นอกจากจะใช้เป็นยาพื้นบ้านแล้วยังใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพิมเสนอีกด้วย โดยพิมเสนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็ได้มาจากการนำใบหนาดมาสกัดและผลิตเป็นผลึกของพิมเสนนั่นเอง คนเมืองจะใช้ใบหนาดเป็นที่ประพรมน้ำมนต์เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายร่วมกับกิ่งพุทรา ในด้านของความเชื่อ ชาวฟิลิปปินส์เชื่อว่า ถ้านำใบหนาดติดตัวไว้จะช่วยทำให้ปลอดจากภยันตรายต่าง ๆ ชาวมาเลเซียถือกันว่าจะช่วยป้องกันตัวได้ในขณะออกล่าช้างป่า ส่วนในบ้านเรานั้นเชื่อว่าใบหนาดช่วยป้องกันผีได้ สาเหตุคงสืบเนื่องมาจากในนิยายเรื่อง อีนากพระโขนง ที่มีข้อความว่า “ผัวเข้าดงหนาดเมียจะขาดใจตาย“

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 10 บ้านไผ่ใหญ่ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังนกแอ่น จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล  นายโกศล สมบัติคำ อายุ 58 ปี

ที่อยู่ บ้านเลขที่ 221/1 หมู่ที่ 10 บ้านไผ่ใหญ่ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังนกแอ่น จังหวัดพิษณุโลก