ว่านธรณีสาร

ชื่อสมุนไพร : ว่านธรณีสาร
ชื่อพื้นเมือง : มะขามป้อมดิน, เสนียด, กระทืบยอด, ก้างปลาดิน, ดอกใต้ใบ, ตรึงบาดาล, ก้างปลาแดง, ครีบยอด, คดทราย, รุรี, ก้างปลา เป็นต้น
วงศ์ : PHYLLANTHACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus pulcher Wall. ex Müll.Arg.
ชื่อสามัญ : Tropical leaf-flower
ลักษณะของสมุนไพร ธรณีสาร จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 เมตร เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาล มีรอยแผลของใบที่หลุดร่วงปรากฏให้เห็นตลอดทั้งต้น ลำต้นตั้งตรง ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันซ้ายขวาถี่ ๆ ลักษณะใบรูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบกลมมน ปลายสุดมีติ่งแหลมเล็ก ๆ ขอบใบเรียบ โคนใบเบี้ยวหรือมน เนื้อใบบาง เกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านท้องใบมีสีอ่อนกว่าด้านแผ่นใบ ก้านใบสั้นมาก ยาวประมาณ 1 มม. มีหูใบเล็ก ๆ แหลม ๆ หนึ่งคู่ ยาว 2.5 มม. ติดอยู่ที่โคนก้านใบ ดอก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบและปลายกิ่ง ซึ่งใบได้ลดรูปลงไปจนดูคล้ายช่อดอก ดอกเพศผู้ ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบใกล้โคนกิ่ง ก้านดอกยาว ดอกมี 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยม รูปไข่แกมสามเหลี่ยม หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน เรียงเป็นชั้นเดียว สีเขียวอ่อน โคนกลีบสีแดงเข้ม ขอบกลีบสีอ่อน และเป็นแฉกแหลม ๆ จำนวนมาก ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นแท่งสั้น ๆ อับเรณูแตกตามยาว ฐานดอกมีต่อมรูปไต 4 ต่อม ดอกเพศเมีย มักจะออกตามง่ามใบที่อยู่ตอนบนของกิ่ง ก้านดอกยาว มีกลีบดอก 6 กลีบ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ยาวประมาณ 8 มม. เรียงเป็นชั้นเดียว ผล ลักษณะค่อนข้างกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 3 มม. ผิวเกลี้ยง สีน้ำตาลอ่อน ก้านผลยาว
รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ นำต้นทั้งต้นมาต้มดื่มแก้ปวดท้อง ใช้ภายนอกเป็นยาล้างตา ทาผิวหนัง แก้ฝีอักเสบ แก้คัน ทาท้องแก้ไข้ และทาท้องเด็กช่วยให้ไตทำงานเป็นปกติ หรือใบโขลกเป็นยาพอกเหงือก แก้ปวดฟัน พอกฝี แก้อาการบวมและคันตามร่างกาย บดให้ละเอียดผสมพิมเสนกวาดคอเด็ก แก้ร้อนใน แก้พิษตานซาง ต้มน้ำดื่มช่วยขับลมในลำไส้
แหล่งที่พบจากการสำรวจ : หมู่ 5 ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
ที่มาของข้อมูล
ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นายอักษณ มาอินทร์ อายุ 56 ปี
ที่อยู่ 446 ม.5 ต.แก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก