หูเสือ

หูเสือ
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อสมุนไพร : หูเสือ
ชื่อพื้นเมือง : หอมด่วนหูเสือ, หอมด่วนหลวง, เนียมหูเสือ, ผักฮ่านใหญ่, ผักหูเสือ เป็นต้น
วงศ์ : LAMIACEAE หรือ LABIATAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.
ชื่อสามัญ : Indian borage, Country borage, Oreille, Oregano
ลักษณะของสมุนไพร หูเสือ จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 0.3-1 เมตร ลำต้นอวบน้ำ มีขนหนาแน่น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ค่อนข้างกลม กว้าง 4-6 ซม. ยาว 5-7 ซม. โคนใบมนตัดมีครีบยาว ปลายใบมน ขอบใบจักมน แผ่นใบสีเขียว มีขนหนาแน่นทั้งสองด้าน เนื้อใบหนา มีกลิ่นเฉพาะ ก้านใบยาว 2-4.5 ซม.ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกยาว 10-20 ซม. มีใบประดับรูปไข่ ดอกสีฟ้า กลีบเลี้ยงโคนเชื่อติดกันเป็นรูประฆัง ด้านนอกมีขน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนตั้งตรง กลีบล่างยาวเว้า ออกดอกยาก ผล รูปทรงกลมแป้น กว้าง 0.5 มม. ยาว 0.7 มม. ผิวเรียบ สีน้ำตาลอ่อน

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ ใบหูเสือแบบสด ขนาดเล็กหรือใหญ่ตามแต่จะหาได้ จำนวน 5 ใบ ล้างน้ำให้สะอาดสับรวมกับเนื้อหมูไม่ติดมันกะจำนวนตามต้องการ ไม่ต้องปรุงรสหรือใส่อะไรลงไปอีก ปั้นเป็นก้อนต้มกับน้ำไม่ต้องมากนักจนเดือดหรือเนื้อสุกกินทั้งน้ำแลเนื้อเช้าเย็น ทำกินประจำ 4 – 5 วัน รักษาอาการเจ็บคอและต่อมทอนซิลอักเสบ ใบหูเสือ มีสรรพคุณใช้แก้ปวดหู แก้ฝีในหู แก้หูน้ำหนวก ดมแก้หวัด คัดจมูก ขยี้ทาท้องเด็ก แก้ท้องอืด โดยคั้นน้ำจากใบหูเสือมาใช้หยอดหู หรือนำน้ำที่ได้มาใช้ทาท้องเด็ก ใบตำพอกแผลที่มีน้ำเหลือง น้ำหนอง หรือเป็นตุ่มผุพอง
แหล่งที่พบจากการสำรวจ : หมู่ 5 ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
ที่มาของข้อมูล
ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นายอักษณ มาอินทร์ อายุ 56 ปี
ที่อยู่ 446 ม.5 ต.แก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก