ชะพลู

ชื่อสมุนไพร       :  ชะพลู

ชื่อพื้นเมือง       : ช้าพลู (ภาคกลาง) ชะพลูเถา เฌอภลู (สุรินทร์) ผักปูนา ผักปูลิง ผักปูริง ปูลิงนก ผักพลูนก ผักอีไร ผักอีเลิศ (ภาคอีสาน) พลูลิง (ภาคเหนือ) เย่เท้ย (แม่ฮ่องสอน) พลูนก ผักปูนก (พายัพ) พลูลิงนก (เชียงใหม่) นมวา (ใต้)

วงศ์               :  Piperaceae

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Piper sarmentosum Roxb

ชื่อสามัญ         : 

ลักษณะของสมุนไพร  ชะพลูเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มักขึ้นทั่วไปตามที่เปียกชื้น ปลูกขึ้นง่าย เจริญเติบโตได้ดี มีลักษณะเป็นเถาเลื้อยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ลำต้นแบ่งเป็นข้อโดยตามข้อจะมีรากช่วยในการยึดเกาะ มีกลิ่นเฉพาะตัวใบมีสีเขียวสดเป็นมัน คล้ายกันกับใบ พลูที่ใช้เคี้ยวกินกับหมาก ฐานใบกว้าง ปลายใบแหลมคล้ายรูปหัวใจหรือใบโพธ์เล็กน้อย เห็นเส้นใบชัดเจน ใบมีกลิ่นฉุน มีรสเผ็ดเล็กน้อย ดอกสีขาวมีขนาดเล็ก จะออกเป็นช่อ

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ ในใบชะพลูมีสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายของมนุษย์อย่างมาก คือ แคลเซียมและวิตามินเอซึ่งจะมีสูงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีฟอสฟอรัส เหล็ก เส้นใย และสารคลอโรฟิล ส่วนสรรพคุณทางยานั้นช่วยบำรุงธาตุ แก้จุกเสียด การกินใบชะพลูมาก ๆ ชนิดที่เรียกว่า กินกันทุกวัน กินกันแทบทุกมื้อ เช่น ชาวบ้านภาคอีสานนั้น แคลเซียมที่มีในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งถ้าสะสมมาก ๆ อาจกลายเป็นนิ่วในไตได้ แต่โดยทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวันก็ไม่มีใครกินชะพลูได้มากมายขนาดนั้น ถ้ากินใบชะพลูต้องกินร่วมกับเนื้อสัตว์ร่างกายจึงใช้แคลเซียมที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สรรพคุณของใบชะพลู ดอก ทำให้เสมหะแห้งช่วยขับลมในลำไส้ ราก ขับเสมหะให้ออกมาทางระบบขับถ่ายขับลมในลำไส้ทำให้เสมหะแห้ง ต้น ขับเสมหะในทรวงอก ใบ มีรสเผ็ดร้อน ทำให้เจริญอาหาร ขับเสมหะ ในใบชะพลูมีสาร เบต้า-แคโรทีน สูงมาก

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 9 ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นางธัญญาพร  สุขถิ่น          อายุ  43  ปี ที่อยู่  หมู่ที่ 9 ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก