ย่านาง

ชื่อสมุนไพร       :  ย่านาง

ชื่อพื้นเมือง       :  จ้อยนาง (เชียงใหม่)  เถาย่านาง เถาวัลย์เขียว (กลาง) ยาดนาง (สุราษฎร์ธานี)

วงศ์               :  บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์  :   Tiliacora triandra  (Colebr.) Diels

ชื่อสามัญ         :   Bamboo grass ย่านาง

ลักษณะของสมุนไพร  ไม้เถาเลื้อยพัน กิ่งอ่อนมีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่แล้วผิวค่อนข้างเรียบ รากมีขนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่หรือรูปไข่ขอบขนานปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5 – 10 ซม. กว้าง 2 – 4 ซม. ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1 ซม. ดอกออกตามซอกโคนก้านใบเป็นช่องยาว 2 – 5 ซม. ช่อหนึ่ง ๆ มีดอกขนาดเล็กสีเหลือง 3 – 5 ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้นไม่มีกลีบดอก ผลรูปร่างกลมรีขนาดเล็ก สีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีเหลืองอมแดงและกลายเป็นสีดำ

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ ใบย่านางเป็นสมุนไพรเย็น มีคลอโรฟิลล์สดจากธรรมชาติ และยังมีวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายอีกมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีนในปริมาณค่อนข้างสูง โดยเป็นสมุนไพรที่ใครหลาย ๆ คนต่างก็คุ้นเคยกันดี เพราะนิยมนำมาเป็นเครื่องปรุงรสช่วยเพิ่มความกลมกล่อมของอาหาร เช่น แกงหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ แกงเลียง แกงหวาน เป็นต้น สรรพคุณใบย่านาง ใบย่านาง ในตำราสมุนไพรจัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก จึงช่วยลดและชะลอการเกิดริ้วและความแก่ชราอย่างได้ผล ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย ช่วยฟื้นฟูเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ช่วยในการปรับสมดุลของร่างกาย ลดความอ้วน ช่วยในการเผาผลาญไขมันและนำไปใช้เป็นพลังงานช่วยป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ น้ำย่านางเมื่อนำมาผสมกับดินสอพองหรือปูนเคี้ยวหมากผสมจนเหลว สามารถนำมาทา สิว ฝ้า ตุ่มคัน ตุ่มใส ผื่นคัน พอกฝีหนอง ช่วยป้องกันและรักษาอาการส้นเท้าแตก เป็นต้น

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 9 ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นางธัญญาพร  สุขถิ่น          อายุ  43  ปี ที่อยู่  หมู่ที่ 9 ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก