เอื้องหมายนา

ชื่อสมุนไพร       : เอื้องหมายนา

ชื่อพื้นเมือง       : เอื้อง, เอื้องช้าง, เอื้องต้น, เอื้องเพ็ดม้า, เอื้องดิน, เอื้องใหญ่, บันไดสวรรค์ เป็นต้น

วงศ์               :  COSTACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Cheilocostus speciosus (J.Koenig) C.D.Specht

ชื่อสามัญ         :  Crape ginger, Malay ginger, Spiral Flag, Wild ginger

ลักษณะของสมุนไพร เอื้องหมายนา จัดเป็นไม้ล้มลุก สูง 1-3 เมตร ขนาดผ่าศูนย์กลาง 1-3 ซม. ที่อยู่ในป่าดงดิบมักอวบและตั้งตรง มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นสีแดง ปลายกิ่งมักโค้งเวียน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 5-8 ซม. ยาว 15-40 ซม. ด้านล่างมีขนนุ่มทั่วไป ดอกเป็นช่อออกที่ปลายกิ่งสีขาว กลีบแผ่กว้างหรือเกือบกลม ตรงกลางดอกมีแต้มสีเหลืองหรือสีชมพู ดอกทยอยบานทีละดอก ใบประดับรูปไข่ สีเขียว ออกแดงหรือแสดแดง เกสรผู้ 3 อัน สมบูรณ์ 2 อัน เป็นหมัน 1 อัน ผลแห้งแตกได้ รูปขอบขนานแกมสามเหลี่ยม เมื่อสุกสีแดง เมล็ดสีดำ

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ เหง้าใช้ตำพอกบริเวณสะดือรักษาโรคท้องมาน หรือนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตต่ำ อาการหน้าซีด รากนำมาดองกับเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง ใช้ลำต้นนำไปต้มกิน เชื่อว่าเป็นยาต้านโรคมะเร็ง ลำต้นนำมาย่างไฟคั้นเอาน้ำใช้หยอดหู แก้หูน้ำหนวก น้ำคั้นจากลำต้นใช้เป็นยารักษาโรคบิด หรือใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือจะใช้ลำต้นนำมารับประทานสดเป็นยาแก้นิ่ว

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน หมู่ 2 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นายพจน์   ชินปัญชนะ   อายุ 48 ปี

ตำแหน่ง หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน ที่อยู่ สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก