เจตมูลเพลิงขาว

ชื่อสมุนไพร       : เจตมูลเพลิงขาว

ชื่อพื้นเมือง       : ปิดปิวขาว, ตั้งชู้อ้วย, ตอชูวา, ตอชู เป็นต้น

วงศ์               :  PLUMBAGINACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Plumbago zeylanica L.

ชื่อสามัญ         :  Ceylon leadwort, White leadwort

ลักษณะของสมุนไพร เจตมูลเพลิงขาว จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก หรือไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงประมาณ 1-2 เมตร กิ่งก้านมักทอดยาว ลำต้นตั้งตรง กิ่งเอนลู่ลง หรือพาดพันบนต้นไม้อื่น ลำต้นสีเขียวเข้ม แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งอ่อนเป็นร่องและเป็นเหลี่ยม ผิวเรียบ ใบเดี่ยว กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 8-11 เซนติเมตร ออกสลับรูปกลมรี รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปขอบขนาน ขอบใบเป็นคลื่น ปลายใบแหลม ตอนปลายเป็นติ่ง โคนในรูปลิ่มหรือมน ใบบาง แผ่นใบบาง สีเขียวอ่อน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกแบบช่อกระจะเชิงลด ดอกจำนวนมาก แกนกลางและก้านช่อดอกมีต่อมไร้ก้าน (เจตมูลเพลิงแดงไม่มี) ก้านมียางเหนียว กลีบดอกสีขาว โคนกลีบดอกเป็นหลอดเล็กๆยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7 ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่ง เกสรตัวผู้สีม่วงน้ำเงิน ยาวประมาณ 0.2 ซม. รังไข่รูปรี เป็น 5 เหลี่ยม ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นหลอดเล็กยาว 0.6-1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวมีต่อมน้ำยางเหนียวติดมือ ช่อดอกยาวได้ประมาณ 15 ซม. ก้านช่อยาว 1.5-2 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว 0.4-0.8 ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 ซม. มีต่อมหนาแน่น ผลแบบแคปซูลแห้ง รูปขอบขนาน ยาว กลม มีสีเขียวมีขนเหนียวรอบตัว

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ รากและใบ บรรเทาปวด แก้ไข้หวัด แก้เจ็บคอ รักษาโรคปวดตามข้อ และไขข้ออักเสบ ใช้ใบตำพอกแก้ฟกช้ำ ฝีบวม แก้ไข้มาลาเรีย แก้ปวดเมื่อย กระดูกหัก ปอดบวม ดอก         มีรสร้อน แก้โรคตา แก้หนาวเย็น ลำต้น รสร้อน ขับประจำเดือน ผงรากปิดพอกฝี ทาแก้กลากเกลื้อน และแก้ปวดข้อ และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน หมู่ 2 ตำบลวังนกแอ่น

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นายพจน์   ชินปัญชนะ   อายุ 48 ปี  ตำแหน่ง หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน ที่อยู่ สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก