รางจืด

ชื่อสมุนไพร       : รางจืด

ชื่อพื้นเมือง       : รางเย็น คาย , ย่ำแย้ แอดแอ

วงศ์               :  เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Thunbergia laurifolia Lindl.

ชื่อสามัญ         :  Laurel clockvine, Blue trumphet vine

ลักษณะของสมุนไพร  ต้นรางจืด เป็นไม้เลื้อยหรือไม้เถาที่มีเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถานั้นจะกลมเป็นปล้อง มีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่มีขนและไม่มีมือจับเหมือนกับตำลึง และมะระ แต่อาศัยลำต้นในการพันรัดขึ้นไป รางจืดเป็นพืชในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย จึงสามารถขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้นของประเทศไทยทั่วทุกภาค เจริญเติบโตได้เร็วมาก และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เถาในการปักชำ ใบรางจืด เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจหรือรูปใบขอบขนานหรือเป็นรูปไข่ โคนใบมนเว้า ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร มีเส้นอยู่ 3 เส้นออกจากโคนใบดอกรางจืด ลักษณะของดอกออกเป็นช่อห้อยลงมาตามซอกใบ ช่อละ 3-4 ดอก ดอกมีสีม่วงอมฟ้า มีใบประดับสีเขียวประแดง มีกลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกเป็นรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เชื่อมติดกันเป็นหลอด และมักมีน้ำหวานบรรจุอยู่ภายในหลอด กลีบดอกมีปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 4 อันผลรางจืด ลักษณะเป็นฝักกลม ปลายเป็นจะงอย เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ ใช้เพื่อใช้แก้พิษต่าง ๆ เช่น พิษจากยาฆ่าแมลง ยาเบื่อ สารตะกั่ว ฯลฯ ยิ่งเมื่ออยู่ในสถานที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล การจะนำส่งแพทย์เพื่อรับการรักษาอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน จนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แต่ถ้ามีต้นรางจืดปลูกอยู่แถวบ้าน เราก็สามารถใช้ใบรางจืดที่ไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไป หรือใช้รากที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป ในขนาดปริมาณเท่านิ้วชี้มาใช้เพื่อรักษาบรรเทาอาการของพิษเฉพาะหน้าไปก่อน ก่อนที่จะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยานั้นก็ได้แก่ ใบ ราก และเถาสด

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 9 บ้านซำตะเคียน ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล  นางบุญชิด กาปาทุม  อายุ 62 ปี ที่อยู่ บ้านเลขที่ 792 หมู่ที่ 9 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังนกแอ่น จังหวัดพิษณุโลก