สังกรณี

ชื่อสมุนไพร       : สังกรณี

ชื่อพื้นเมือง       : มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ไฟนกคุ้ม (ปราจีนบุรี), กำแพงใหญ่ (เลย), กวางหีแฉะ

วงศ์                         :  วงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Barleria strigosa Willd.

ลักษณะของสมุนไพร ต้นสังกรณี จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขารอบ ๆ ต้นมากมาย มีความสูงของลำต้นประมาณ 60-120 เซนติเมตร ตามต้นไม่มีหนาม ตามกิ่งก้านมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากตามป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าดงดิบ และป่าดิบแล้ง ใบสังกรณี ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างยาวหรือเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมและมีติ่ง โคนใบแหลมและค่อย ๆ เรียวแหลมไปจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบมีขนเป็นหนามเล็ก ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ท้องใบมีขนยาวตามเส้นใบ ส่วนหลังใบมีขนบ้างประปราย ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ทั้งต้น)รากสังกรณีส่วนคนเมืองจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำร่วมกับสมุนไพรฮ่อสะพานควาย และดู่เครือ ใช้ดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก) ใช้รากปรุงเป็นยาถอนพิษไข้กาฬ โดยผสมกับเครื่องยาอื่น ๆ เป็นยาดับพิษไข้ทั้งปวง และเป็นยาแก้ไอ (ราก) รากมีรสขม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ดับพิษร้อน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (ราก) ใบใช้เป็นยาแก้ไข้หวัดใหญ่ (ใบ) ช่วยแก้ไข้จับสั่น ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการไอเป็นเลือด (ทั้งต้น)รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โลหิตกำเดา (ราก) ส่วนบางข้อมูลระบุว่าใบสังกรณีก็นำมาใช้เป็นยาแก้กำเดาได้เช่นกัน (ใบ)

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 9 บ้านซำตะเคียน ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล  นางบุญชิด กาปาทุม  อายุ 62 ปี ที่อยู่ บ้านเลขที่ 792 หมู่ที่ 9 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังนกแอ่น จังหวัดพิษณุโลก