กะทกรกป่า

ชื่อสมุนไพร:      กะทกรกป่า

ชื่อพื้นเมือง:       ผักขี้หิด (เลย), รุ้งนก (เพชรบูรณ์), เงาะป่า (กาญจนบุรี), เถาเงาะ เถาสิงโต (ชัยนาท), ยันฮ้าง (อุบลราชธานี), เยี่ยววัว กะทกรกป่า

วงศ์:             

ชื่อสามัญ:         Fetid passionflower, Scarletfruit passionflower, Stinking passion flower

ชื่อวิทยาศาสตร์:  Passiflora foetida L. จัดอยู่ในวงศ์กะทกรก (PASSIFLORACEAE)

ลักษณะของสมุนไพร ต้นกะทกรก จัดเป็นไม้เถาเลื้อย มีอายุประมาณ 2-5 ปี มีมือสำหรับใช้ยึดเกาะ และมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทุกส่วน และทุกส่วนของลำต้นเมื่อนำมาขยี้จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และเจริญเติบโตได้ดีในที่ราบ ดอกกะทกรก ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ดอกมีกลีบดอก 10 กลีบ กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนกลีบด้านในเป็นสีขาว มีกระบังรอบเป็นเส้นฝอยมีสีขาวโคนม่วง ส่วนกลีบเลี้ยงของดอกเป็นเส้นฝอย ดอกมีก้านชูเกสรร่วม แยกเป็นเกสรตัวผู้ประมาณ 5-8 ก้าน ส่วนก้านเกสรตัวเมียมีประมาณ 3-4 ก้าน รังไข่เกลี้ยง ผลกะทกรก หรือ ลูกกะทกรก ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมสีส้ม และมีใบประดับเส้นฝอยคลุมอยู่ ภายในผลมีเนื้อหุ้มเมล็ดใสและฉ่ำน้ำ (คล้ายกับเมล็ดแมงลักแช่น้ำ) มีรสหวานแบบปะแล่ม ๆ และจะออกดอกออกผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ กะทกรกเปลือกใช้เป็นยาชูกำลัง (เปลือก) ส่วนเถาใช้เป็นยาธาตุ (เถา)รากสดหรือรากตากแห้งใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นชา จะช่วยทำให้สดชื่น ช่วยแก้ความดันโลหิตสูง (ราก) ผลดิบมีรสเมาเบื่อ ส่วนผลสุกมีรสหวานเย็น ช่วยบำรุงปอด (ผล) ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ทั้งต้น) ช่วยถอนพิษเบื่อเมาทุกชนิด (เนื้อไม้) แก้อาการไอ (ใบ, ดอก, ต้น, ทั้งต้น) ช่วยขับเสมหะ (ใบ, ต้น, ทั้งต้น) เมล็ดใช้แก้เด็กที่มีอาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยทำให้ผายลม ด้วยการนำเมล็ดมาตำให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำส้มและรมควันให้อุ่น แล้วเอาไปทาท้องเด็ก (เมล็ด) อีกทั้ง ยอดอ่อน ผลอ่อน ผลสุก ผลแก่ รวมทั้งรกหุ้ม สามารถใช้รับประทานเป็นผักสด หรือนำมาต้มหรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก และแกงเลียง ผลสามารถนำมาปั่นเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มได้ ในด้านทางการเกษตร เนื่องจากต้นกะทกรกมีสารพิษชื่อว่า Cyanpgenetic glycosides ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นยาฆ่าและป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ โดยเฉพาะตัวด้วงถั่วเขียว ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะไปยับยั้งการเกิดเป็นตัว ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินและทำปุ๋ยหมักได้ เนื่องจากต้นกะทกรกมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เข้ามาทำลายได้

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 13 บ้านตอเรือ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นางปิ่น  มูลนาง      อายุ 70 ปี ที่อยู่ หมู่ที่ 13 บ้านตอเรือ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก