กฤษณา

ชื่อสมุนไพร       : กฤษณา

ชื่อพื้นเมือง       : สีเสียดน้ำ (บุรีรัมย์), ตะเกราน้ำ (จันทบุรี), ไม้หอม (ภาคตะวันออก, ภาคใต้)

วงศ์               :  (THYMELAEACEAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Aquilaria crasna Pierre)

ชื่อสามัญ         :  Eagle wood, Agarwood, Aglia, Aloewood, Akyaw, Calambac, Calambour,      Lignum aloes

ลักษณะของสมุนไพร เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 18-30 เมตร วัดขนาดรอบลำต้นได้ความยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มเจดีย์ต่ำ ๆ หรือเป็นรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบมีสีเทาอมขาว เปลือกมีความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เมื่ออายุมาก ๆ เปลือกนอกจะแตกเป็นร่องยาวตื้น ๆ ส่วนเปลือกด้านในจะมีสีขาวอมเหลือง ต้นมีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วไป ตามกิ่งอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก ต้นกฤษณาชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น จึงมักพบได้ทั่วไปตามป่าดงดิบทั้งชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำลำธาร โดยธรรมชาติต้นกฤษณาจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สำหรับการปลูกกฤษณาและการขยายพันธุ์ที่นิยมทำในปัจจุบันคือการขุดกล้าไม้จากบริเวณต้นแม่มาปลูกในเรือนเพาะชำ จนกล้าไม้มีอายุได้ 1 ปีจึงค่อยย้ายไปปลูกในแปลง

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ  ประโยชน์ของไม้กฤษณา ใช้ส่งขายเพื่อนำไปใช้ผสมเข้าเครื่องหอมทุกชนิด หรือนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม เช่น น้ำอบไทย น้ำมันหอมระเหย ธูปหอม ยาหอม ส่วนกากกฤษณาที่เหลือจากการกลั่นสามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องปั่นต่าง ๆ หรือจะใช้ทำเป็นผงธูปหอมก็ได้ ส่วนในประเทศไต้หวันจะนำไปใช้ทำเป็นไวน์ และมีการนำมาปั้นเป็นก้อนโดยผสมกับน้ำมันกฤษณาและส่วนผสมอื่น ๆ ที่ให้กลิ่นหอม หรือที่เรียกว่า “Marmool” ซึ่งชาวอาหรับจะนิยมนำมาใช้จุดเพื่อให้มีกลิ่นหอม ชาวปาร์ซี (Parsee) และชาวอาหรับ นิยมใช้ไม้หอมของต้นกฤษณามาเผาไฟเพื่อใช้อบห้องให้มีกลิ่นหอม ส่วนชาวฮินดูจะนิยมนำมาใช้จุดไฟ เพื่อให้กลิ่นหอมในโบสถ์เนื้อไม้กฤษณาเกรดคุณภาพระดับกลาง เช่น ไม้ตกตะเคียน ไม้ปากขวาง นำมาใช้กลั่นทำเป็นหัวน้ำหอมกฤษณาได้ น้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอางได้ ซึ่งทางยุโรปนิยมนำมาปรุงเป็นน้ำหอมกฤษณาชนิดคุณภาพดี ที่ใช้แล้วติดผิวกายได้นานยิ่งขึ้น ส่วนน้ำกลั่นกฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเป็นสบู่เหลว สบู่หอม ทำเป็นยาสระผม เครื่องประทินผิว หรือใช้สำหรับทำสปาเพื่อระงับความเครียด

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 19 หมู่บ้านวังกระบาก ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นางสุจิตรา อ่อนเปลีย         อายุ 58 ปี

ที่อยู่ บ้านเลขที่ 399 หมู่ที่ 19 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก