พู่ระหง

ชื่อสมุนไพร       : พู่ระหง

ชื่อพื้นเมือง       : ชุบบาห้อย (ปัตตานี), พู่ระหง (กรุงเทพฯ), หางหงส์ (พายัพ), พู่ระโหง พู่เรือหงส์ หางหงส์

วงศ์               :  ชบา (MALVACEAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Hibiscus schizopetalus (Dyer) Hook.f.

ชื่อสามัญ         :  Fringed hibiscus, Coral Hibiscus, Japanese Lantern, Spider gumamela

ลักษณะของสมุนไพร ต้นพู่ระหง มีข้อสันนิษฐานว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา จัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามาก ออกรอบ ๆ ต้น และมักโค้งลงสู่พื้นดิน เปลือกต้นเป็นสีเหลือง เปลือกลำต้นและใบมียางเหนียว กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและวิธีการตอนกิ่ง เป็นไม้ที่ปลูกง่าย มีความแข็งแรง ทนทาน โตเร็ว ขึ้นได้ในดินทุกชนิดใบพู่ระหง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับไปตามกิ่งก้าน ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลมมีติ่งหาง โคนใบมน ส่วนขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร แผ่นใบบางสีเขียวเป็นมัน ก้านใบเป็นสีเขียว ดอกพู่ระหง ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามส่วนยอดของปลายกิ่งครั้งละหลายดอก แต่จะทยอยกันบาน ดอกเป็นสีแดงสด หรือดอกมีหลายสี (แดง ส้ม ชมพู) มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบแคบ ขอบกลีบดอกหยักเว้าลึกเป็นแฉก ๆ เมื่อดอกบานเต็มที่ปลายกลีบดอกจะงองุ้มเข้าหาก้านดอก กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว ก้านดอกสีเขียว ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรเพศผู้เป็นสีเหลือง ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมีย อับเรณูติดที่บริเวณปลายดอก เกสรเพศเมียปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก โผล่พ้นเกสรเพศผู้ (ตรงกลางดอกมีก้านเกสรชูก้านยาวพ้นออกมาจากดอก ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร ส่วนปลายมีแขนงเกสรเพศผู้แผ่ออกไปโดยรอบ) ดอกห้อยคว่ำลงพื้น มีส่วนก้านเกสรห้อยลงต่ำสุด ลักษณะคล้ายพู่เรือหงส์สมดั่งชื่อ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 4-5 นิ้ว สามารถออกได้ตลอดปี

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ  คนไทยสมัยก่อนนิยมนำดอกพู่ระหงมาใช้สระผม เช่นเดียวกับการใช้ดอกอัญชันและผลมะกรูดย่างไฟ โดยเชื่อกันว่าจะช่วยทำให้ผมดกดำ ผมไม่ร่วงและแตกปลาย รากของต้นพู่ระหงนิยมนำมาเผาไฟใช้ในการทำน้ำตาลเมาหรือเหล้า โดยเชื่อว่าจะได้น้ำตาลเมาหรือเหล้าที่มีคุณภาพสูงและแรงขึ้น ต้นพู่ระหงเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมในการปลูกของชาวไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากปลูกเลี้ยงดูแลได้ง่าย ตัดได้ทรงพุ่มได้ สามารถให้ดอกงดงามได้ตลอดทั้งปี นิยมนำมาปลูกตามมุม ขอบแนวอาคาร แนวรั้วหรือริมกำแพง ปลูกเป็นฉากหลัง ริมถนน ทางเดิน สระว่ายน้ำ ปลูกริมทะเล ริมน้ำตก หรือปลูกประดับในสวน โดยนำมาปลูกเป็นต้นเดี่ยว ๆ เพื่อโชว์กิ่งและดอกที่พลิ้วไหว ให้ความรู้สึกพลิ้วเบาแบบสบาย ๆ หรือปลูกเป็นกลุ่มหลาย ๆ ต้น เป็นแปลงยาว หรือปลูกเป็นรั้ว จะให้ความรู้สึกเป็นแนวบังสายตาสีเขียวที่แข็งแรง

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 19 หมู่บ้านวังกระบาก ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นางสุจิตรา อ่อนเปลีย         อายุ 58 ปี ที่อยู่ บ้านเลขที่ 399 หมู่ที่ 19 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก