ชิงชี่

ชื่อสมุนไพร       : ชิงชี่

ชื่อพื้นเมือง       : หนวดแมวแดง (เชียงใหม่), แส้ม้าทลาย (เชียงราย), ซิซอ (ปราจีนบุรี), คายซู (อุบลราชธานี), น้ำนอง (สุโขทัย), ชายชู้ หมากหมก

วงศ์               :  กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Capparis micracantha DC.

ลักษณะของสมุนไพร ต้นชิงชี่ จัดเป็นไม้พุ่มหรือกึ่งเลื้อย หรือเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-6 เมตร กิ่งก้านอ่อนเป็นสีเขียว กิ่งคดไปมา ผิวเรียบเกลี้ยง มีหนามยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ลักษณะตรงหรือโค้งเล็กน้อย ส่วนลำต้นเป็นสีเทา ผิวเปลือกต้นเป็นกระสีขาว ๆ แตกระแหง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ตามสภาพดินแห้ง เขาหินปูนที่แห้งแล้ง ภูเขา หินปูนใกล้กับทะเล ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าโปร่งทั่วไป พบได้ทุกภาคในประเทศไทย ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 500 เมตร ในต่างประเทศพบได้ที่พม่า อินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย จีน อันดามัน และไฮหนาน บชิงชี่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปรี ปลายใบมนหรือแหลม หรือเว้าเล็กน้อยและเป็นติ่ง ส่วนขอบใบมนหรือค่อนข้างเว้า ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9.5-24 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา มัน และเกลี้ยง หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ดอกชิงชี่ ออกดอกเดี่ยว ออกเรียงเป็นแถว 1-7 ดอก โดยจะออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ออกเรียงอยู่เหนือง่ามใบ กลีบดอกเป็นสีขาวหลุดร่วงได้ง่าย มี 2 กลีบ ด้านนอกสีขาวแต้มเหลืองและจะเปลี่ยนเป็นแต้มสีม่วงปนสีน้ำตาล ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอก มีขนาดกว้างประมาณ 3-7 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-25 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำหวานที่โคนก้านดอก ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กฝอย ๆ สีขาวคล้ายหนวดแมวยื่นยาวออกมา มีประมาณ 20-35 อัน ก้านยาว มีรังไข่เป็นรูปไข่ เกลี้ยง ส่วนกลีบรองกลีบดอกมีลักษณะเว้าเป็นรูปเรือแกมรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5.5-13 มิลลิเมตร ขอบมักมีขน ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

รูปภาพ

การใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น/สรรพคุณ  ผลชิงชี่สุกมีรสหวานใช้รับประทานได้ ต้นชิงชี่เป็นไม้เล็กใช้พื้นที่ปลูกแคบ ตัดแต่งได้ง่าย ออกดอกดก มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และดูแปลกตา มองดูเหมือนมีการเปลี่ยนสีจากกลีบสีเหลืองเป็นสีแดงเข้ม แต่แท้จริงแล้วเป็นแหล่งน้ำหวานที่เปลี่ยนสีได้ อีกทั้งก้านเกสรก็มีจำนวนมาก โค้งได้รูปดูแปลกตา จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้

แหล่งที่พบจากการสำรวจ  :  หมู่ที่ 19 หมู่บ้านวังกระบาก ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของข้อมูล

ผู้ให้ข้อมูล ชื่อ – สกุล นางสุจิตรา อ่อนเปลีย         อายุ 58 ปี ที่อยู่ บ้านเลขที่ 399 หมู่ที่ 19 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก