โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อให้มีการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ ซึ่งปรากฏในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วยกิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืชในพื้นป่าธรรมชาติ การสำรวจรวบรวมพันธุกรรมที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพการดำรงชีวิตของสังคมในชุมชนต่าง ๆ ดังพระราโชวาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2543 ในการประชุม สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ณ  อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใจความตอนหนึ่ง ว่า  “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ได้เริ่มต้นขึ้นราวปีพุทธศักราช 2535 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สถาบันต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการศึกษาพืชพรรณต่างๆ และบุคคลที่สนใจได้มีโอกาสปฏิบัติงานที่ศึกษาพืชพรรณต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย ได้ศึกษาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ได้รวบรวมเป็นหลักฐานไว้ และเพื่อให้เป็นสื่อในระหว่างสถาบันต่างๆ บุคคลต่างๆ ที่ทำการศึกษาให้สามารถ ร่วมใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้การศึกษาไม่ซ้ำซ้อน สามารถที่จะดำเนินการไปก้าวหน้าเป็นประโยชน์ในทางวิชาการได้” จากพระบรมราโชวาท ดังกล่าว ทำให้เกิดโครงการ กิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบด้วยกิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืชในพื้นที่ป่าธรรมชาติ การสำรวจรวบรวมพันธุกรรมพืชที่มีแนวโน้มว่าใกล้สุญพันธุ์อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การนำพันธุกรรมพืชที่รวบรวมเพาะปลูกและรักษาในพื้นที่ที่เหมาะสมทางกายภาพ และปลอดภัยจากการรุกราน การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืช โดยศึกษาประเมินพันธุกรรมพืชในด้านต่างๆให้ทราบองค์ประกอบ คุณสมบัติ และการใช้ประโยชน์พืชพรรณการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชด้วยคอมพิวเตอร์ วางแผนและพัฒนาพันธุกรรมพืชระยะยาว 30-50 ปี และกิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแก่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ และสำนึกที่จะร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์พืชพรรณของไทยให้คงอยู่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าประจำชาติสืบไป

เพื่อให้การดำเนินงาน ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการตามกรอบแม่บทฯ และเพื่อพัฒนาไปสู่ศูนย์ความหลากหลายของข้อมูลทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา อพ.สธ. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการอนุรักษ์

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จึงได้ขยายพื้นที่การจัดการฐานข้อมูลโครงการข้อมูลทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ตามกรอบแผนแม่บทฯ โดยได้วางแผนการดำเนินงานเริ่มจากการสำรวจข้อมูลทางกายภาพและชีวภาพเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับบริหารจัดการอนุรักษ์ ในพื้นที่ชุมชนตำบลวังนกแอ่นและตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพอยู่มากซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ การจัดการ และใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจหรือสุขภาพของชุมชนและสังคมส่วนรวมได้อย่างดี